เดือนรอมฎอน” คืออะไร ?
“เดือนรอมฎอน” ถือเป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์ที่สำคัญของผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม ทุก ๆ ปี ผู้คนจะคุ้นเคยกับประโยค “เข้าสู่เดือนรอมฎอน” คำว่า “รอมฎอน” มีความหมายว่าอย่างไร และพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์นี้ เป็นมาอย่างไร ไปอ่านเรื่องราวน่ารู้เหล่านี้กัน
“เดือนรอมฎอน” คืออะไร ?
“รอมฎอน” เป็นเดือนที่ 9 ในจำนวนทั้งหมด 12 เดือนของปฏิทินจันทรคติของศาสนาอิสลาม เป็นเดือนที่ชาวมุสลิมปฏิบัติการถือศีลอด หรือ อัซ เซาม์ อัซซิยาม ตามศาสนบัญญัติ หมายถึง ระงับการกิน การดื่ม การสูบ การเสพสุขทางเพศ และพฤติกรรมที่เป็นบาปอื่น ๆ ตั้งแต่แสงอรุณขึ้นจนกระทั่งดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า โดยมีเจตนาปฏิบัติเพื่อเป็นการเคารพภักดีต่อองค์อัลเลาะห์
ทำไมชาวมุสลิมถึงต้อง “ถือศีลอด”
การถือศีลอด เพื่อแสดงออกถึงความศรัทธา ซื่อสัตย์ และมุ่งหวังความใกล้ชิดกับองค์อัลเลาะห์ นอกจากนี้ยังเป็นการย้ำเตือนให้ชาวมุสลิมระลึกถึงความลำบากของคนที่ด้อยโอกาสกว่า จึงเป็นเหตุให้ ชาวมุสลิมมักจะบริจาคและเลี้ยงอาหารแก่ผู้ด้อยโอกาสในเดือนนี้
คำศัพท์ที่เกี่ยวกับ “เดือนรอมฎอน” และการถือศีลอด
- ซูโฮร์ (Suhoor) เป็นมื้ออาหารที่รับประทานก่อนรุ่งสาง ต้องกินให้อิ่มเสียก่อนพระอาทิตย์ขึ้น เพื่อเข้าสู่การถือศีลอดตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นจนถึงพระอาทิตย์ตก
- อิฟตาร์ (Iftar) คือ การรับประทานอาหารในช่วงเวลาละศีลอด หลังจากที่ดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าไปแล้ว
- ตะระวีฮ์ (Tarawih) เป็นการทำละหมาดเพิ่มเติมในทุก ๆ คืน นอกเหนือจากการทำละหมาด 5 ครั้งต่อวัน
- อีฏิ้ลฟิตริ (Eid al-Fitr) คือ การฉลองละศีลอด หรือเรียกว่า วันอีดเล็ก เป็นวันสิ้นสุดการถือศีลอดของเดือนรอมฎอน วันนี้ถือเป็นวันหยุดทางศาสนา มีการเฉลิมฉลองในหมู่ชาวมุสลิมทั่วโลก
การถือศีลอด ส่งผลต่อร่างกายอย่างไร ?
การอดอาหาร ย่อมส่งผลทางใดทางหนึ่งต่อร่างกาย การถือศีลอดระยะเวลา 1 เดือน ถือเป็นการ “ปรับสมดุล” ให้กับร่างกาย เนื่องจากในชีวิตประจำวัน หลายคนรับประทานอาหารมากเกินความต้องการของร่างกาย
ในช่วงระหว่างถือศีลอดนี้ จึงเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายได้ปรับสมดุล ซ่อมแซมส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย และเป็นช่วงที่ทำให้อวัยวะบางส่วนได้ถอนพิษ (Detox) อาทิ ลำไส้ใหญ่, ตับ, ไต และผิวหนัง
นอกจากนี้ยังเป็นการหันมาให้ความสำคัญกับสิ่งที่เรากินเข้าไป เป็นการช่วยลดน้ำหนักทางอ้อม เพราะร่างกายถูกเซ็ตระบบการกินใหม่ และเป็นการกินที่ตรงต่อเวลา และเป็นระเบียบมากขึ้นอีกด้วย แต่อย่างไรก็ตาม การอดอาหารอย่างต่อเนื่อง ก็ไม่เป็นผลดีต่อร่างกายในระยะยาว
“การถือศีลอด” ส่งผลต่อสังคมอย่างไร ?
การถือศีลอดในเดือนรอมฎอน ไม่เป็นเพียงวิถีการปฏิบัติตามหลักทางศาสนา แต่ยังเชื่อมโยงกับพฤติกรรมของผู้คนในสังคม เคยมีผลการศึกษาพบว่า ระหว่างช่วงเดือนของการถือศีลอด คดีการก่ออาชญากรรมลดลง โดยเฉพาะการก่ออาชญากรรมที่สืบเนื่องมาจากการดื่มแอลกอฮอล์ มีสถิติลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ
“การถือศีลอด” ประจำปี 2567 เกิดขึ้นเมื่อไร ?
ประกาศ สำนักจุฬาราชมนตรี เรื่อง การดูดวงจันทร์ เพื่อกำหนดวันที่ 1 เดือนรอมฎอน ฮิจเราะห์ศักราช 1445 ปรากฏว่า ตรงกับวันที่ 12 มีนาคม 2567 เนื่องจากก่อนหน้า มีประกาศให้พี่น้องชาวไทยมุสลิมทั่วประเทศ ดูดวงจันทร์ เพื่อกำหนดวันที่ 1 เดือนรอมฎอน ฮิจเราะห์ศักราช 1445 ในวันอาทิตย์ที่ 10 มีนาคม 2567 เวลาหลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า แต่ปรากฏว่า ไม่มีผู้เห็นดวงจันทร์ ต่อมาจึงประกาศให้ทราบโดยทั่วกันว่า วันที่ 1 เดือนรอมฎอน ฮิจเราะห์ศักราช 1445 ตรงกับ วันอังคารที่ 12 มีนาคม 2567
“เดือนรอมฎอน” สิ้นสุดลงเมื่อไร ?
การสิ้นสุดลงของเดือนรอมฎอน ขึ้นอยู่กับการมองเห็นดวงจันทร์ของเดือนใหม่ โดยหลักปฏิบัติที่ยึดใช้มายาวนานคือ ในช่วงเย็นของวันที่ 29 ของเดือนรอมฎอน ชาวมุสลิมจะพากันไปร่วมกันดูดวงจันทร์ หากเห็นดวงจันทร์ ถือว่าวันต่อไปเป็นเดือนใหม่ และรอมฎอนจะสิ้นสุดลง ซึ่งเท่ากับว่ารอมฎอนของปีนั้นมี 29 วัน แต่ถ้าไม่เห็น มุสลิมต้องถือศีลอดต่อไปอีก 1 วัน ให้นับว่ารอมฎอนมี 30 วัน และถือว่าเดือนรอมฎอนของปีนั้นสิ้นสุดลง
“เดือนรอมฎอน” และพิธีถือศีลอด สืบทอดมาอย่างยาวนาน แม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนแปลงไป แต่คุณค่าและวิถีปฏิบัติของการถือศีลอด ยังคงดำรงอยู่สืบต่อไป
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-จุฬาราชมนตรี ประกาศ 12 มี.ค.67 เป็นวันที่ 1 ของ "เดือนรอมฎอน"
อ้างอิง
-รอมฎอนกะรีม
-รอมฎอน : เกิดอะไรขึ้นกับร่างกาย เมื่อถือศีลอดเป็นเวลา 30 วัน
ข้อมูล/ข่าว : THAI PBS